วันพฤหัสบดีที่ 7 กันยายน พ.ศ. 2560

ลับสมองประลองปัญญา..เพ่งพินิจ “บริดจ์”  มีอะไรซ่อนอยู่?
        สุภาพสตรีผมสีดอกเลาวัยเฉียดเจ็ดสิบต้นๆ 4 คน แต่ทว่ายังคงมีความจำเป็นเลิศและมีร่างกายแข็งแรงเหมือนคนในวัย 60 ก็ไม่ปาน กำลังนั่งเพิ่งพินิจอ่านไพ่ที่ตัวเองถืออยู่ในมือด้วยความผ่อนคลาย บวกกับพยายามใช้จิตสำรวจใจของคู่ต่อสู้ที่นั่งอยู่เบื้องหน้าว่าจะเทไพ่ตัวใดลงมาประชันขันแข่งกัน
       

       ใช่แล้ว!!กิริยาเหล่านี้คล้ายกับคนเล่นพนันไพ่ที่มีมูลค่าการพนันขันต่อกันด้วยเงินจำนวนมหาศาลโดยหวังผลอย่างเดียวคือ “กำไร”จากฝ่ายตรงข้าม หากแต่อาการข้างต้นนี้กลับเป็นลักษณะของคนที่กำลังใช้สมองประลองปัญญาในการแข่งขัน“บริดจ์” อันเป็นกีฬาที่คนทั่วโลกเล่นมาช้านานเป็นเวลากว่า 100 ปีเพื่อเป็นการบริหารสมองไม่ให้ร่วงโรยไปตามอายุที่เพิ่มขึ้นในแต่ละวัน
       
       ดังนั้นเพื่อให้ทุกคนได้สัมผัสและรู้จักกีฬาประเภทนี้มากขึ้น เอเอสทีวีผู้จัดการ “ปริทัศน์”จึงขันอาสานำพาทุกคนไปทำความคุ้นเคยกับ “บริดจ์”พร้อมๆกับเรื่องราวชวนน่าติดตามของกีฬาประเภทนี้
       
       **เส้นทางของ“บริดจ์” ในไทย
       

       “บริดจ์” ได้ชื่อว่าเป็นกีฬาเก่าแก่อีกประเภทหนึ่งที่มีคนเล่นกว่า 100 ล้านคนทั่วโลก แม้แต่กระทั่งมหาเศรษฐีอันดับหนึ่งของโลกอย่าง “บิลล์ เกตส์” เจ้าของไมโครซอฟท์ที่ได้ชื่อว่ามีความฉลาดเป็นเลิศก็ยังใช้เกมชนิดนี้ในการบริหารสมองและผ่อนคลายความเครียดจากธุรกิจหลายแสนล้านบาทของเขาเป็นประจำ เพราะจากงานวิจัยของมหาวิทยาลัยเบิร์กเลย์ ได้ผลสรุปออกมาว่าการเล่นบริดจ์นั้นช่วยให้สมองมีการตื่นตัวอยู่ตลอดเวลา จึงทำให้ไม่เจ็บป่วยเป็นโรคอัลไซเมอร์ได้ง่าย รวมทั้งช่วยทำให้ผู้สูงอายุมีสังคมเพิ่มขึ้นเพราะการเล่นบริดจ์แต่ละครั้งนั้นจะต้องใช้ผู้เล่นไม่ต่ำกว่า 4 คน
       
       ที่สำคัญการเล่นบริดจ์ยังทำให้ผู้เล่นเป็นนักวางแผนชั้นเยี่ยมอีกด้วยเพราะการเล่นบริดจ์มีความแตกต่างจากการเล่นไพ่ชนิดอื่น ที่ต้องอาศัยการวางแผนในการเล่นให้ดี มิเช่นนั้นอาจพลาดท่าให้กับฝ่ายตรงข้ามได้ง่าย รวมทั้งผู้เล่นจะต้องเข้าใจในภาษาบริดจ์และเข้าใจฝ่ายตรงข้ามด้วยว่าเขาจะประมูลไพ่ออกมาต่อสู้กับเราอย่างไร ซึ่งต้องเรียกว่าไม่ใช่เพียงแค่ใช้ “โชค” ก็เล่นได้แต่ต้องอาศัย “ประสบการณ์” เท่านั้นถึงจะเอาชนะในเกมนั้นได้
       
       กีฬาบริดจ์เริ่มต้นจากประเทศใดไม่มีหลักฐานระบุไว้แน่ชัด แต่มีการสันนิษฐานว่าเล่นกันครั้งแรกในยุโรปเมื่อประมาณ 144 ปีที่ผ่านมา และกีฬาชนิดนี้มีการพัฒนาการเล่นเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน
       
       สำหรับในประเทศไทยนั้นบริดจ์เข้ามาแพร่หลายครั้งแรกเมื่อ สมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 6 ) ยังทรงดำรงพระอิสริยยศ เป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ และเสด็จไปศึกษาที่ประเทศอังกฤษ ซึ่งเป็นช่วงที่กีฬาบริดจ์แพร่หลาย และเป็นกีฬายอดนิยมในประเทศอังกฤษ หลังจากที่พระองค์ท่านเสด็จกลับมาประทับที่ประเทศไทย จึงทรงมีพระดำริให้เล่นกันที่พระราชวังพญาไท จากนั้นจึงมีเจ้านายและข้าราชบริพารเล่นตามกันอีกหลายคน
       
       หลังจากที่มีการเล่นบริดจ์กันไปสักระยะหนึ่งจนถึง พ.ศ.2489 หม่อมเจ้าเจษฎากร วรวรรณ ดำริว่าควรจะจัดตั้งสมาคมบริดจ์แห่งประเทศไทยขึ้น แต่ปรากฏว่าท่านสิ้นพระชนม์ไปก่อน ต่อมาวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ.2491 ทางคณะกรรมจึงได้ยื่นเรื่องขอจดทะเบียนก่อตั้ง “สมาคมบริดจ์แห่งประเทศไทย” กับกรมตำรวจอย่างเป็นทางการ โดยมี เรือเอกฮันเตอร์ (Lieutenant Senior Grade William H.Hunter) ผู้ช่วยทูตทหารเรืออเมริกัน เป็นนายกสมาคมฯคนแรก
       
       คุณหญิงชดช้อย โสภณพนิช ประธานสมาพันธ์บริดจ์ภาคพื้นเอเชียแปซิฟิก อธิบายถึงเจตนารมณ์ที่คนหลงใหลในมนต์เสน่ห์แห่งบริดจ์ จึงรวมตัวกันต่อตั้งเป็นสมาคมขึ้นมาว่า เพื่อส่งเสริมสนับสนุนและวางกติกาการบริดจ์ให้มีความเป็นสากลมากขึ้น รวมทั้งทำให้กีฬาชนิดนี้เป็นที่รู้จักแพร่หลายของคนในสังคมเพื่อพัฒนาและยกมาตรฐานการเล่นบริดจ์ให้เป็นที่ยอมรับทั้งในสังคมเมืองไทยและสังคมโลก
       
       “ปัจจุบันสมาคาบริดจ์แห่งประเทศไทย มีนโยบายส่งเสริมให้มีการเรียนการสอนให้กับเยาวชนเพื่อให้ใช้เวลาว่างในการพัฒนาสมอง ฝึกการคิดอย่างมีเหตุมีผล และส่งเสริมให้ประชาชนที่สนใจได้เรียนรู้และเล่นกีฬาบริดจ์อย่างถูกต้องโดยจัดหาผู้เชี่ยวชาญมาเป็นอาจารย์สอนให้กับสถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษา ขณะเดียวกันเราก็ส่งผู้อำนวยการแข่งขัน ไปทำหน้าที่ในกีฬาแห่งชาติ กีฬามหาวิทยาลัย และกีฬารัฐวิสาหกิจ รวมทั้งทางสมาคมยังสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการจัดการแข่งขันบริดจ์อุดมศึกษา จัดการแข่งขันบริดจ์ให้กับข้าราชการ ได้แก่ การแข่งขันบริดจ์ระหว่างกระทรวง และสนับสนุนส่งเสริมให้นักกีฬาไปแข่งขันต่างประเทศตลอดจนผลักดันให้กีฬาบริดจ์ระหว่างกระทรวง และสนับสนุนส่งเสริมให้นักกีฬาไปแข่งขันต่างประเทศ รวมทั้งผลักดันให้กีฬาบริดจ์เป็นกีฬาสำหรับประชาชนโดยทั่วไประดับภูมิภาคด้วย” คุณหญิงอธิบาย
       
       **สังคม (ไม่) ไฮโซของ “บริดจ์”
       

       หลายคนอาจมองว่า “บริดจ์” เป็นกีฬาที่เล่นเฉพาะในกลุ่มของเจ้าขุนมูลนาย ชนชั้นผู้ดีมีสกุล หรือนักเรียนแพทย์ เท่านั้น
       
       แต่ทุกวันนี้สังคมของบริดจ์ได้เปลี่ยนไปแล้ว ตามมหาวิทยาลัยชั้นนำในเมืองไทยบางแห่ง ได้มีการบรรจุบริดจ์ไว้ในชมรมเพื่อให้นักศึกษาได้ทดสอบและใช้ความคิดในช่วงเวลาว่างจากการเรียน และในต่างประเทศเองก็มีการบรรจุไพ่บริดจ์ ไว้ในหลักสูตรการเรียนการสอนของระดับประถมด้วยเช่นกัน
       
       “ในอดีตคนเล่นไพ่บริดจ์จะเป็นนักเรียนนอก และขุนนาง รวมไปถึงเอกอัครราชทูตทุกคนจะต้องเล่นกีฬาชนิดเป็น ไม่อย่างนั้นถือว่าไม่ผ่านการเป็นทูต เพราะการเล่นบริดจ์จะทำให้ทุกคนมีโอกาสได้พูดคุยและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันไปในตัวด้วย แต่ด้วยความเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยีการเล่นกีฬาประเภทนี้จึงมีการขยายออกไปสู่วงกว้างมากขึ้น จึงทำให้มีฐานคนเล่นเพิ่มมากขึ้น ที่ไม่ใช่ไฮโซหรือผู้ดีอีกต่อไป”
       

       นั่นเป็นคำบอกเล่าของ ดิเรก คุณะดิลก หนึ่งในผู้เชี่ยวชาญด้านกีฬาบริดจ์ที่ได้รับการฝึกฝนฝีมือมาจากผู้เป็นบิดา (พิศวง คุนะดิลก) ที่ได้ชื่อว่าเป็นปรมาจารย์ด้านการเล่นบริดจ์มือหนึ่งของเมืองไทยจนมีชื่อติดอยู่ในอันดับต้นๆของโลก ดิเรกสืบทอดความรู้เรื่องไพ่บริดจ์จากบิดาจนมาเปิดเป็นโรงเรียนสอนบริดจ์อย่างเป็นจริงเป็นจังที่ประเทศสหรัฐอเมริกา ลูกศิษย์ลูกหาของดิเรกมีมากมายส่วนมากเป็นฝรั่ง แต่ที่พิเศษคือเขาเคยเล่นไพ่บริดจ์โต๊ะเดียวกับบิลล์เกตมาแล้ว
       
       ขณะที่คุณหญิงชดช้อย ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า เร็วๆนี้ประเทศอินโดนีเซียได้เห็นประโยชน์ของไพ่บริดจ์จึงจับมือกับกระทรวงศึกษาธิการให้บรรจุไพ่บริดจ์เข้าไปในหลักสูตรของเด็กประถม เพื่อเป็นวิชาเสริมให้เด็กๆได้ใช้เวลาว่างในช่วงบ่ายฝึกทักษะการคิดคำนวณ ส่วนประเทศไทยนั้นมีการบรรจุการเล่นไพ่บริดจ์ลงในไปวิชาเลือกของมหาวิทยาลัยหลายแห่ง อาทิ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, มหาวิทยาลัยมหิดล และอีกหลายมหาวิทยาลัยชื่อดังของเมืองไทย เองก็นำไพ่บริดจ์ไปไว้ในชมรมเพื่อให้นักศึกษาฝึกฝนทักษะการคิดคำนวณกันในยามว่างจากวิชาเรียน
       
       “ทุกวันนี้เราจะเห็นว่าบริดจ์ไม่ได้เล่นกันเฉพาะในกลุ่มของไฮโซอีกต่อไป เพราะเดี๋ยวนี้ก็มีข้าราชการประจำ นักเรียนแพทย์ หรือคนอีกหลากหลายวิชาชีพ ที่จบจากมหาวิทยาลัยที่มีการนำไพ่บริดจ์มาไว้ในชมรมก็ลุกขึ้นมาเล่นกีฬาประเภทนี้เป็นจำนวนไม่น้อยอีกเช่นกัน หรือคนอายุต่ำกว่า 20 ปีถึง 30 ปลายๆก็มาเล่นกันเยอะมาก” คุณหญิงชดช้อยแจกแจง
       
       **ประโยชน์ของ “บริดจ์” รู้ไว้ใช่ว่า
       

       เมื่อไม่นานมานี้มีผลการวิจัยที่น่าเชื่อถือได้จากประเทศสหรัฐอเมริกาและประเทศอังกฤษถึงประโยชน์ของการเล่นไพ่บริดจ์ว่า คนที่เล่นไพ่บริดจ์เป็นประจำจะไม่เป็นโรคอัลไซเมอร์ที่คนยุคนี้กลัวกันมาก หรือถ้าเป็นก็จะเป็นช้ากว่าคนในวัยเดียวกันถึง 2 เท่าเพราะสมองซีกซ้ายได้มีการบริหารอยู่ตลอดเวลา
       
       ดิเรกบอกว่า ในประเทศสหรัฐอเมริกาและที่อังกฤษมีผลพิสูจน์ออกมาว่า ผู้สูงอายุที่เล่นบริดจ์เป็นประจำนั้นโรคอัลไซเมอร์จะไม่ค่อยถามหา เพราะสมองได้ใช้งานและคิดคำนวณอยู่ตลอดเวลาซึ่งถือว่าเป็นการบริหารสมองไปในตัว
       

       “คุณพ่อของผมท่านเล่นบริดจ์ตั้งแต่สมัยท่านยังหนุ่มกระทั่งท่านอายุ 89 ก็ยังคงเล่นอยู่สิ่งหนึ่งที่ผมสังเกตเห็นได้จากคุณพ่อคือท่านไม่เคยหลงลืมเลย และอีกหนึ่งรายที่เรายังเห็นได้จนถึงทุกวันนี้คือ คุณกุลยา บุณยะโชติ ซึ่งทุกวันนี้ถึงแม้ว่าวัยของท่านจะล่วงเลยเข้าไปถึง 98 ปีแล้วก็ตามแต่ท่านก็ยังคมมาเล่นบริดจ์เป็นประจำมากว่า 60 ปีแล้ว ที่สำคัญความจำของท่านก็ยังคงดีอยู่” ดิเรกสาธยาย
       
       บริดจ์ไม่เพียงแต่ช่วยในการบริหารความจำให้เป็นเลิศเท่านั้น แต่ยังมีส่วนช่วยฝึกสมาธิของคนได้เป็นอย่างดีอีกด้วยเช่นกัน
       

       “การเล่นบริดจ์สามารถฝึกสมาธิของเราได้ เพราะในขณะที่เรากำลังเล่นอยู่นั้นเสมือนหนึ่งเราว่ากลังนั่งอยู่ตรงกลางหลุมลึกทุกคนสามารถมองเห็นไพ่ของเราหมดว่าเราจะทำอะไร ฉะนั้นเราต้องไม่วอกแวกไม่มองไปที่อื่นไม่สนใจใคร ต้องดูของเราคนเดียวเท่านั้น ถ้าเมื่อไรก็ตามที่เรามัวแต่มองคนอื่นก็จะทำให้เราเสียสมาธิและแพ้ในเกมนั้นได้ ซึ่งสำหรับดิฉันถือว่าเป็นการฝึกให้เรามีสมาธิและสติไปในเวลาเดียวกัน” คุณหญิงชดช้อยอธิบาย
       
       **“เสียงเล็กๆ” จาก “ผู้ใหญ่” ที่รักบริดจ์
       
       
ช่วงสายๆของทุกวันจันทร์ถึงวันอาทิตย์ บรรดาขาบริดจ์ทุกคนจะสลับหมุนเวียนกันไปตามที่นัดหมายต่างๆ โดยไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้าเพราะแฟนพันธุ์แท้ทุกคนล้วนทราบดีว่าแต่ละวันจะใช้สถานที่ใดเป็นที่ฝึกฝนประลองฝีมือ
       
       คุณชายไก่-ม.ร.ว.สฤษดิคุณ กิตติยากร อดีตประธานบริษัทเชลล์ เป็นหนึ่งในชมรมคนรักบริดจ์เป็นชีวิตจิตใจ เล่าถึงประโยชน์ของเกมนี้ว่า เป็นเกมที่ต้องอาศัยความจำและไหวพริบ เพราะเกมประเภทนี้จะต่างกับการพนันชนิดอื่นตรงที่ว่าถ้าเล่นไพ่อาจต้องใช้โชคช่วย แต่ถ้าเล่นบริดจ์ต้องอาศัยประสบการณ์และฝีมืออย่างเดียวเท่านั้นเพราะไม่มีใครสามารถเป็นแชมป์บริดจ์ได้ตั้งแต่อายุยังน้อยๆ ซึ่งส่วนใหญ่ผู้ที่มีฝีมือติดอันดับโลกจะเป็นผู้สูงวัยทั้งนั้น
       
       “สำหรับผมคิดว่าเกมนี้เป็นเกมที่ดีที่สุดเกมหนึ่งในโลกเลยก็ว่าได้ เพราะมันมีส่วนในการช่วยพัฒนาสมองของเราให้มีความจำดีเพราะเราต้องคิดและคำนวณอยู่ตลอดเวลา”
       

       ขณะที่คุณหญิงกิ่งแก้ว เอื้อทวีกุล ผู้ใช้เวลาในการเล่นไพ่บริดจ์มาถึง 30 ปี ได้เล่าถึงประโยชน์ของไพ่บริดจ์ด้วยน้ำเสียงสดใสว่า เกมประเภทนี้ไม่เพียงแต่ทำให้สมองได้มีการพัฒนาอยู่เสมอแต่ยังช่วยทำให้คุณหญิงได้ฝึกฝนที่จะเรียนรู้และเข้าใจถึงความรู้สึกของคนอื่นอย่างนุ่มนวล โดยเฉพาะเรียนรู้นิสัยของพาร์ทเนอร์และคู่แข่งขันของตัวเองไปในตัวจึงทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างคุณหญิงและเพื่อนๆแน่นแฟ้นขึ้น
       
       ส่วนจักรมณ ผาสุกวนิช อดีตปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ที่เพิ่งเกษียณอายุราชการ และหันกลับมาเล่นบริดจ์เมื่อประมาณปลายปีที่มาหลังจากที่เว้นวรรคไปกว่า 30 ซึ่งเขาซึมซับบรรยากาศของบริดจ์มาตั้งแต่ในวัยเยาว์เพราะเห็นคุณพ่อและคุณแม่เล่นมาโดยตลอด ครั้นพอเป็นหนุ่มเขาจึงหัดเล่นไพ่บริดจ์จนในที่สุดก็สามารถมีโอกาสได้ไปแข่งขันในนัดสำคัญๆระดับโลกอยู่หลายครั้ง เล่าถึงคุณประโยชน์ของบริดจ์ให้ฟังว่า ทุกครั้งที่เล่นเกมนี้สมองจะได้รับการกระตุ้นให้ทำงาน ทำให้เกิดสมาธิและสติที่จะทำเรื่องราวต่างๆได้อย่างดีเยี่ยมโดยที่ไม่โดยไม่มีอาการหลงลืมเกิดขึ้นกับตัวเองแม้แต่น้อย รวมทั้งทำให้เขาได้เรียนรู้ที่จะใช้ชีวิตกับคนรอบข้างอย่างมีความสุขโดยไม่ต้องไม่เบียดเบียนใคร
       
       จะเห็นว่าทุกสิ่งอย่างบนโลกใบนี้ล้วนมีข้อดีและข้อเสียด้วยกันทั้งนั้น มันอยู่ที่ว่าเราจะเลือกหยิบใช้ด้านใดของมันต่างหาก...
       
       

       เรื่องโดย ปาณี ชีวาภาคย์, ศศิวิมล แถวเพชร
       
 
ลับสมองประลองปัญญา..เพ่งพินิจ “บริดจ์”  มีอะไรซ่อนอยู่?
ชวนพิศ ธรรมศิริ อดีตผู้ว่าการประปาแห่งประเทศไทย
        
ลับสมองประลองปัญญา..เพ่งพินิจ “บริดจ์”  มีอะไรซ่อนอยู่?
คุณหญิงมลินี สารสิน
        
ลับสมองประลองปัญญา..เพ่งพินิจ “บริดจ์”  มีอะไรซ่อนอยู่?
คุณหญิงชดช้อย โสภณพนิช
        
ลับสมองประลองปัญญา..เพ่งพินิจ “บริดจ์”  มีอะไรซ่อนอยู่?
ประชา คุณะเกษม อดีตรมต.ต่างประเทศ
        
ลับสมองประลองปัญญา..เพ่งพินิจ “บริดจ์”  มีอะไรซ่อนอยู่?
จักรมณ ผาสุกวนิช อดีตปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม
        
ลับสมองประลองปัญญา..เพ่งพินิจ “บริดจ์”  มีอะไรซ่อนอยู่?
        
ลับสมองประลองปัญญา..เพ่งพินิจ “บริดจ์”  มีอะไรซ่อนอยู่?
ม.ร.ว.สฤษดิคุณ กิตติยากร, ม.ร.ว.อรมณี ภาณุพันธ์, รัชนิบูล ปราณีประชาชน, คุณหญิงชดช้อย โสภณพนิช,คุณหญิงกิ่งแก้ว เอื้อทวีกุล,ท่านผู้หญิงสุจิตรคุณ สารสิน, Tansel ภรรยาเอกอัครราชทูตตุรกี
        
ลับสมองประลองปัญญา..เพ่งพินิจ “บริดจ์”  มีอะไรซ่อนอยู่?
ดิเรก คุณะดิลก


ที่มา ::   http://www.manager.co.th/Daily/ViewNews.aspx?NewsID=9520000032743

บริดจ์ (เกมไพ่)

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

บริดจ์
บริดจ์ (อังกฤษContract bridgeจีน合約橋牌) เป็นเกมไพ่ ปัจจุบันมีการเล่นเพื่อเป็นเกมกีฬาสำหรับแข่งขันในระดับมหาวิทยาลัยระดับประเทศในกีฬาแห่งชาติ ระดับเอเชียนเกมส์ และโอลิมปิกได้บรรจุกีฬาบริดจ์เป็นกีฬาทดลองด้วย

เนื้อหา

  [แสดง

รูปแบบการเล่น[แก้]

บริดจ์จัดเป็นเกมไพ่ประเภทการประมูล (Auction) และการรวบตองกิน (Trick Taking) ซึ่งมีระบบกลไกการเล่นแบบนำไพ่และตามไพ่ (Lead and Follow)
ในหนึ่งโต๊ะของการเล่นบริดจ์จะมีผู้เล่นสี่คน โดยผู้เล่นที่นั่งฝั่งตรงข้ามจะถือว่าอยู่ฝ่ายเดียวกัน ผู้ที่นั่งตรงข้ามกันและกันจะเรียกว่า "คู่ขา" (Partner) และฝั่งตรงข้ามที่นั่งด้านข้างจะเรียกว่า "ปรปักษ์" (Opponent) การเล่นบริดจ์ในหนึ่งเกม จะมีสองส่วน ได้แก่ ส่วนแรกคือ ส่วนการประมูล และส่วนที่สอง คือ ส่วนการเล่นไพ่ การประมูลไพ่ (Bidding) คือ การสร้างสัญญาในการเล่น (Making Contract) จากการประมูลเพื่อให้ผู้เล่นหรือคู่ขาสามารถรวบรวมตองกินได้เท่ากับหรือมากกว่าที่สัญญาเอาไว้ การเล่นแบบนำไพ่และตามไพ่ (Lead and Follow) คือ การที่ผู้เล่นหนึ่งจะเป็นผู้นำไพ่โดยการลงไพ่ 1 ใบ และผู้เล่นคนอื่นวางไพ่ดอกเดียวกับที่ผู้นำไพ่ได้วางเอาไว้ การรวบตองกิน (win a trick) คือ การที่ผู้ที่มีไพ่ศักดิ์ใหญ่ที่สุดใน 1 รอบของการเล่นแบบนำไพ่และตามไพ่ รวบตองกินซึ่งจะนับเป็นแต้มไว้กับตัว ในการเล่นบริดจ์จะแจกไพ่คนละ 13 ใบ ซึ่งหมายความว่าจะมี 13 ตองกินใน 1 เกม การทำได้ตามสัญญา (Contract making) คือ เมื่อจบส่วนของการเล่นไพ่ โดยผู้ชนะการประมูล (Declarer) และคู่ขาสามารถรวบรวมตองกินได้มากกว่าหรือเท่ากับที่ได้สัญญาเอาไว้ในช่วงการประมูล ผลของการการทำได้ตามสัญญา คะแนนจะตกไปอยู่กับ ผู้ชนะการประมูล (Declarer) และคู่ขา สัญญาล้มเหลว คือ เมื่อจบส่วนของการเล่นไพ่ โดยผู้ชนะการประมูล (Declarer) และคู่ขา ไม่สามารถรวบรวมตองได้มากกว่าหรือเท่ากับที่สัญญาไว้ คะแนนนั้นจะตกกับ ปรปักษ์ของชนะการประมูลทั้งสอง

กติกา[แก้]

แยกเป็นการประมูลและการเล่น การประมูล
ห้ามประมูลไพ่ต่ำกว่าระดับเดิมหรือศักย์ต่ำกว่าเดิม ต้องประมูลจะมี 5 รูปแบบคือ เรียกว่าศักย์ไพ่ คือ C ไพ่ชุดดอกจิก D ไพ่ชุดข้าวหลามตัด H ไพ่ชุดโพแดง S ไพ่ชุดโพดำและ NT ไพ่ชุดโนทรัพม์ เรียงตามลำดับ โดยระดับการประมูลจะมีจากระดับ 1 ถึงระดับ 7 เช่น 1C 1D 1H 1S 1NT 2C 2D ... 7NT โดยชุดที่ได้จากการประมูลจะเป็นชุดทรัพม์นับแต้มไล่จากสูงไปต่ำ (การนับแต้มสูงกินแต้มต่ำมีดังต่อไปนี้ : A K Q J 10 9 8 7 6 5 4 3 2) และมีการประมูลเพื่อเลือกไพ่ (Trump)ในเกม โดยที่จะมีไพ่พิเศษเรียกว่า Trump สามารถกินได้ในทุกตองที่ลงได้ ในกรณีเล่น Trump การเล่น
ต้องลงไพ่ตามชุดที่ผู้ได้ลงไพ่คนแรกเป็นคนลงเสมอ นอกจากจะไม่มีไพ่ชุดนั้นแล้วถึงลงชุดอื่นได้
การตัดสิน
ใช้ส่วนต่างของคะแนนการการเล่นคิดเป็น IMP และ VP

รูปแบบการแข่งขัน[แก้]

บริดจ์สามารถจัดเล่นในรูปการแข่งขันได้หลากหลาย

Rubber Bridge[แก้]

เป็นการเล่นที่จบลงในหนึ่งโต๊ะ โดยผู้เล่นทั้งสองฝ่ายจะเล่นและนับคะแนนหลังจากเล่นเพื่อมาคำนวณผลแพ้ชนะกันทันที ผู้ที่มีคะแนนมากกว่าเป็นผู้ชนะ การแข่งขันประเภทนี้ใช้ดวงสูงเช่นเดียวกับการเล่นไพ่ประเภทอื่น จึงนิยมเล่นเพื่อการพนันเป็นหลัก

Team of Four[แก้]

เป็นการเล่นที่สามารถจัดแบบการแข่งขันได้ (Tournament) โดยการแข่งจะต้องแข่งเป็นทีมโดยผู้เล่นหนึ่งประกอบด้วยผู้เล่นสี่คน โดยในหนึ่งคู่การแข่งขัน (Match) จะประกอบด้วยเล่นสองทีม ทีมละสี่คน และใช้โต๊ะสองตัว ผู้เล่นทั้งสี่ในแต่ละทีมจะถูกกำหนดตำแหน่งเป็น เหนือ ใต้ ตะวันออก ตะวันตก (North/South/East/West) โดยผู้เล่นตำแหน่งเหนือและใต้ของทีมหนึ่งจะต้องเล่นกับผู้เล่นตำแหน่งตะวันออกและตะวันตกของอีกทีมหนึ่ง หลังจากเล่นจบในแต่ละสำรับ ให้ทำการแจกไพ่ที่เหมือนกันทุกประการของโต๊ะนั้นไปยังอีกโต๊ะหนึ่ง ซึ่งการแจกนั้นจะได้อุปกรณ์ที่เรียกว่า "บอร์ดไพ่" เป็นตัวช่วยในการแข่งขัน ด้วยระบบนี้จะทำให้ผู้เล่นทิศเหนือและใต้ของทีมได้ไพ่ชุดเดียวกันกับทิศเหนือและใต้ของอีกทีมหนึ่ง การคิดคะแนนนั้นให้นำ ผลต่างคะแนนของทั้งสองโต๊ะมารวมกัน ส่วนต่างของคะแนนจะถูกนำมาเทียบกับตารางคะแนน IMP (International Match Point) อีกทีหนึ่ง ในการแข่งคู่หนึ่งๆนั้นจะมีการไพ่มากกว่าหนึ่งสำรับ และทีมที่ได้คะแนน IMP มากกว่าจะเป็นผู้ชนะ

Duplicate Pair[แก้]

เป็นการแข่งขันที่คู่ขาทั้งสองไม่ต้องหาทีม โดยคู่ขาแต่ละคู่จะนั่งตามโต๊ะและการเดินตำแหน่งโต๊ะ (Movement) ที่จัดไว้ให้แต่ละรอบ และทุกๆคนจะเล่นไพ่ในชุดที่เหมือนกัน แต่จะไม่ครบทั้งหมด ซึ่งในไพ่แต่ละสำรับที่เล่นนั้นจะมีการจดบันทึกผลงานของแต่ละคู่ขาที่เข้าแข่งขันว่าทำได้ดีมากน้อยเพียงไร แล้วนำผลงานที่ได้มาทั้งหมดจัดอันดับ และให้คะแนนคู่ขาแต่ละคู่ตามผลงาน ผู้ได้คะแนนจากการจัดอันดับของทุกสำรับสูงสุดจะเป็นผู้ชนะในการแข่งขัน

Individual Pair[แก้]

เช่นเดียวกับ Duplicate Pair แต่การแข่งขันจะเป็นการสมัครแบบเดี่ยว โดยคู่ขาของผู้เข้าแข่งขันเปลี่ยนไปทุกๆรอบอย่างสุ่มตามการเดินตำแหน่งโต๊ะ (Movement)

IMP Pair[แก้]

เช่นเดียวกับ Duplicate Pair แต่การคิดคะแนนจะไม่ได้ดูที่ผลงาน แต่ดูส่วนของของคะแนนที่ได้กับคะแนนเฉลี่ยของผลงานแต่ละสำหรับ และใช้คะแนน IMP แทนคะแนนอันดับมาคิดคะแนนหาผู้ชนะการแข่งขัน



ขั้นตอนการเล่นมินิบริดจ์


        ผู้จัดทำ ::  สมชาย รุ่งสถิตย์   ผู้ฝึกสอนกีฬามินิบริดจ์และบริดจ์ สมาคมกีฬาบริดจ์แห่งประเทศไทย

Unordered List

Sample Text

ค้นหาบล็อกนี้

ขับเคลื่อนโดย Blogger.

Popular Posts

Recent Posts

Text Widget